วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีบุญบั้งไฟ


     
เมื่อการเตรียมการในการต้อนรับ การทำบั้งไฟ การเอ้บั้งไฟให้สวยงาม เตรียมขบวนฟ้อนในวันแห่โฮมบุญ ทำนั่งร้านสำหรับการนำบั้งไฟขึ้นจุด แล้วก็จะถึงวันงานซึ่งมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องอีกดังนี้

  • ในวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน พร้อมนำเอาเหล้าไปด้วยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งใช้เซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟขนาดเล็กเรียก "บั้งเสี่ยง" เพื่อเสี่ยงทายดูถึงความอุดทสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น จากนั้นก็ดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน (งานนี้มีเฉพาะผู้ชายที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี)
  • จากนั้นก็พากันแห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงานหรือหมู่บ้านเรียก วันโฮม (รวม) มีการเซิ้งออกท่าทางต่างๆ ของการร่วมเพศอยู่ด้วย อาจมีการเอา บักแบ้น ผูกรอบเอวไว้หลายอัน มีสายสำหรับชักให้กระดกขึ้นได้






  • การแห่บั้งไฟ ผู้ร่วมขบวนนั้นดูเหมือนจะตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ปรกติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง หรือเอาโคลนพอกหน้า ขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสาโทมากิน การเซิ้งจะมีคนจ่ายกาพย์ และคนตีกลองให้จังหวะเซิ้ง อยู่กลางขบวนฟ้อน เพื่อให้ผู้ฟ้อนเซิ้งได้ยินเสียงจังหวะและคำกลอน "ลำกาพย์เซิ้งได้ชัดเจน ดูเรื่องที่เกี่ยวข้อง
การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไป มีคำอธิบายได้ว่า เป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากกฎเกณฑ์ชั่วคราว ในอีสานสมัยก่อน ผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชายจึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยว ต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิง และต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักให้แก่ครอบครัวได้ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม (แสดงสะท้อนในเชิงประชดประชันจากนิทาน "พ่อเฒ่ากับลูกเขย") ดังนั้น การที่แสดงออกในทางพิธีกรรมในบุญบั้งไฟ จึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะเรื่องเพศ การกล่าวถึงหรือแสดงอวัยวะเพศ เป็นความหยาบโลนที่สังคมปรกติไม่ยอมรับ



  • ตอนบ่าย จะมีการตีกลองโฮม เพื่อให้ขบวนแห่ทุกขบวนไปรวมกันที่วัด ซึ่งจะหมายถึงการไปร่วมในพิธีบวชของบุตรหลาน หรือการฮดสงฆ์ ถ้ามีการบวชก็จะมีการแห่นาคด้วยม้า (ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะพอทำได้) มีการจุดตะไลตามหลังม้าไปตลอดทาง หากมีการฮดสงฆ์อยู่ด้วยก็จะแห่พระภิกษุที่ต้องการ "ฮด" นำหน้าเจ้านาคไป
  • กลางคืนจะมี การเส็งกลอง หรือแข่งตีกลองกัน โดยแต่ละหมู่บ้านจะนำกลองกิ่งของวัดในหมู่บ้านตนมาตีแข่ง ถือกันว่าถ้าหากแพ้ในการเส็งกลอง ก็จะไม่ใช้กลองนั้นอีกเลย จะต้องไปเสาะแสวงหากลองมาเส็งใหม่ในปีหน้า การเส็งกลองจะมีกันไปจนถึงเที่ยงคืน
  • รุ่งเช้าจะมีการทำบุญถวายจังหันพระ พอตกบ่ายก็มีการแห่บั้งไฟไปยังค้างที่เตรียมไว้ อาจใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นค้างก็ได้ การแข่งขันระหว่างหมู่บ้านก็มีเพียงบ้านใดจะสามารถยิงไปได้สูงกว่ากัน (ใช้การนับไปจนกว่าจะมองเห็นบั้งไฟหล่นพ้นก้อนเมฆลงมา) เป็นการแสดงความสามารถของช่างหรือฉบับของบั้งไฟบ้านนั้น หากบั้งไฟบ้านใดซุ (พ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น) หรือแตกระหว่างการจุด ช่างหรือฉบับก็จะถูกจับโยนลงตม คือโยนลงไปในโคลนเป็นที่สนุกสนานทั้งผู้โยนและถูกโยน (เปื้อนโคลนพอกัน)








  • การเอ้บั้งไฟเพื่อการประกวดในขบวนแห่



    บั้งไฟจุดไม่ขึ้น ช่างที่ทำต้องถูกโยนลงตม

    หมายเหตุปิดท้าย ในอดีตเราจะได้ยินว่าหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ทำบั้งไฟหมื่นขึ้นสุดลูกหูลูกตา คำว่า หมื่น มาจากจำนวนน้ำหนักของดินประสิวที่ใช้ทำ ดินหมื่อ คือ 12 กิโลกรัม (ไม่นับรวมน้ำหนักของถ่านซึ่งเป็นส่วนผสม) จะบรรจุในลำไม่ไผ่ขนาดยาวประมาณ 3 เมตร ต่อมาหมู่บ้านใดทำบั้งไฟแสนคือ 120 กิโลกรัมดินประสิว (ใช้ลำตาลแทนไม้ไผ่ ใช้เทคนิคมัดพันลำตาลอย่างแน่นหนา) ก็ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ในปัจจุบันมีข่าวว่าบางแห่งมีบั้งไฟล้าน (ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะจริงถ้าไม่นับน้ำหนักของท่อเหล็กและหางรวมกันกับดินประสิว) กันบ้างแล้ว ไม่ทราบว่าจุดขึ้นพ้นพื้นดินเพียงใด ผู้เขียนหลับตานึกถึงภาพหากมีการระเบิดเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรหนอ ไม่อยากจะบรรยายครับ
    สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบันงานประเพณียังคงอยู่ แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมของงานบุญหายไป กลายไปเป็นการประกวดประชันกัน การวางเดิมพันเงินแสนเงินหมื่น ไม่มีการพูดถึงดอนปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจัดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างบุญบั้งไฟเมืองยโสธรคือตัวอย่าง (ไม่ทราบว่าอ้างเพื่อธุรกิจหรือไม่) น่าเสียดายที่ความงามในอีตเริ่มจะเลือนหายไปจากอีสาน กลายเป็นตำนานให้กล่าวถึงเพียงเท่านั้น





    ที่มา : http://www.isangate.com/local/thairocket_02.html



    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น