วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

น้ำตกตาดโตน

อำเภอหนองสูง จ.มุกดาหาร
น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีกประมาณ 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

แก่งกะเบา

อำเภอหว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร
แก่งกะเบา เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่ เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ บริเวณริมแก่งกระเบามีร้านอาหารตั้งอยู่ อาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของที่นี่ คือ หมูหันซึ่งมีรสชาติอร่อยตามแบบฉบับสูตรเด็ดของท้องถิ่น
การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก

อำเภอนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก ตั้งอยู่บนเส้นทาง 212 (สายมุกดาหาร-เลิงนกทา) ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 23 กิโลเมตร ก่อนถึงทางเข้าภูหมู เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร

อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร
อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล(ทางหลวงหมายเลข 2034) แยกเข้าทางขวามืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถจากกรุงเทพฯไปลงที่สถานีขนส่งมุกดาหาร และต่อรถสองแถว (สีเหลือง) ค่าโดยสารประมาณ 5 บาทไปลงที่ตลาดพรเพชร แล้วต่อรถสองแถวสายมุกดาหาร – ดอนตาล ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท ลงที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือบอกให้คนขับรถเข้าไปส่งที่อุทยานฯก็ได้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานฯประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย

สถานที่น่าเที่ยวชมภายในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ได้แก่
1.กลุ่มหินเทิบ

การเกิดกลุ่มหินเทิบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของประติมากรรม ธรรมชาติเหล่านี้ล้วนเกิดจากการกัดเซาะของฝน น้ำ ลมและแสงแดด ผ่านกาลเวลามาถึง 120-95 ล้านปี ทำให้กลุ่มหินเหล่านี้มีสภาพแตกต่างกันไปดูคล้ายรูปไอพ่น จานบิน เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้และหอยสังข์ ซึ่งความคงทนของชั้นหินที่แตกต่างกัน ก็เนื่องจากการประสานของเนื้อทรายแตกต่างกัน หินทรายชั้นบนที่คงทนมีสีเนื้อหินเป็นสีน้ำตาล มีส่วนประกอบที่เป็นซิลิกาและเม็ดกรวดมาก ส่วนหินทรายชั้นต่ำลงมาที่ไม่คงทน มีสีของเนื้อหินเป็นสีขาวจะมีส่วนผสมของคาร์บอเนตมาก สภาพของธรณีวิทยา บริเวณกลุ่มหินเทิบประกอบด้วยหินชั้นของหมวดหินเสาขัว และกลุ่มหินภูพานของกลุ่มหินโคราช มีการลำดับชั้นหินอยู่ในมหายุคมีโซโซอิค ประกอบด้วย หินโคลน หินทราย หินทรายแป้ง และหินกรวดมนหนาประมาณ 200 เมตร
2.ลานมุจลินท์

เป็นลานหินเรียบทอดยาวกว้างไกลต่อจากกลุ่มหินเทิบ โดยมีป่าเต็งรังแคระล้อมรอบ ให้ความงดงามกลมกลืนกับธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง มีพันธุ์ไม้พุ่มจำพวกข่อยหิน นางฟ้าจำแลง อ้นเหลืองและกระโดนดาน เป็นส่วนประกอบจุดเด่นของที่นี้ที่ไม่ควรมองข้ามคือ กลุ่มดอกหญ้าของสังคมพืชขนาดเล็ก เช่น สร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง หนาวเดือนห้า ดาวรวมดวงและดุสิตา ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี ณ กลางลานแห่งนี้ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพแม่น้ำโขงได้ด้วย
3.น้ำตกวังเดือนห้า

เป็นน้ำตกขนาดเล็กเกิดจากสายธารที่ไหลผ่านลานหินมุจลินท์ ภายในน้ำตกประกอบไปด้วยแอ่งหิน หุบหิน โขดหิน นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทัศนียภาพ และเล่นน้ำตกในฤดูแล้ง จะมีบ่อน้ำซับไหลหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์และสัตว์ป่า
4.ผาอูฐ

หน้าผาแห่งนี้มีประติมากรรมหิน รูปร่างคล้ายอูฐทะเลทรายและเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นภูถ้ำพระ ผาผักหวานและผาขี้หมู ได้อย่างชัดเจน เบื้องล่างของผาอูฐคือหุบเขากว้างไกล และมีป่าไม้เขียวขจีปกคลุม

5.ภูถ้ำพระ

ตามตำนานแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ สมัยโบราณ เคยมีหมู่บ้านขอมอาศัยอยู่มาก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานหนีภัยธรรมชาติ จึงนำพระพุทธรูปที่ตนบูชาสักการะ ไปเก็บไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ประกอบไปด้วย พระเงิน พระนาก พระทองคำ พระหยก พระว่านและพระไม้ เป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน พระพุทธรูปที่มีค่าสูญหาย คงเหลือเฉพาะพระที่แกะสลักด้วยไม้เท่านั้น ณ ตรงนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามคือ “น้ำตกภูถ้ำพระ” อีกด้วย
6.ผามะนาว

เป็นหน้าผาเรียบสูงชัน มีน้ำตกไหลจากบนหน้าผาลงสู่เบื้องล่างหล่อเลี้ยงทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์ ด้านบนหน้าผาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของกลุ่มหินเทิบ และแม่น้ำโขงได้กว้างไกล ด้านล่างของหน้าผาจะพบความสวยงามของน้ำตก ป่าไม้และสัตว์ป่า สำหรับที่มาของชื่อผามะนาว เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นมะนาวป่าขึ้นเป็นจำนวนมาก
7.ถ้ำฝ่ามือแดง

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีและเป็นของมนุษย์สมัยโบราณ แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้อยู่ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร 1(ห้วยสิงห์) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมุกดาหารประมาณ 8 กิโลเมตร

นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจุดคือ ผางอยและผาปู่เจ้า ฤดูกาลท่องเที่ยวของอุทยานฯคือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ และฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร
หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้ว ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี หอแก้วมุกดาหารมีลักษณะเป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตัวแกนหอคอย 6 เมตร ส่วนฐานมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง ชั้น 1 จัดแสดงเครื่องมือเครือ่งใช้ในการดำรงชีวิตของชาวมุกดาหาร ชั้น 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติเมืองมุกดาหาร วัตถุโบราณ ภาพถ่ายเก่า ตลอดจนเครื่องแต่งกายชาวไทยพื้นเมืองมุกดาหาร 8 เผ่า ส่วนแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 สูง 50 เมตร ส่วนหอชมวิวและโดม สูง 15 เมตร บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ "ลูกแก้วมุกดาหาร" มีลักษณะกลมสีขาวหมอกมัว ทำจากประเทศเยอรมนี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร การขึ้นไปชมจะมีลิฟต์และบันไดเวียนอำนวยความสะดวก โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้านในระดับต่างๆรวม 4 ระดับ คือ ชั้นที่ 1,2,6และ7 บนชั้นที่ 6 มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมทิวทัศน์ในระยะไกล นอกจากจะเห็นเมืองมุกดาหารในมุมสูงแล้ว ยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขด ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน หอแก้วมุกดาหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.ค่าข้าชมคนละ 20 บาท

ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง

อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขง ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร ศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง และเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน

กลองมโหระทึก

อำเภอดอนตาล จ.มุกดาหาร
กลองมโหระทึก เป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูน มีแฉก 14 แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน 4 ตัว กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงบ้านนาทาม โดยตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล อำเภอดอนตาล แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอดอนตาล โดยสร้างเป็นหอกลองเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคง

วัดภูด่านแต้ หรือ วัดพุทธโธธัมมะธะโร

อำเภอนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
วัดภูด่านแต้ หรือ วัดพุทธโธธัมมะธะโร ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 212 ที่บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 134 ด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีธรรมจักรเปล่งรัศมีอยู่ด้านบนมีความอ่อนช้อยสวยงาม สามารถมองเห็นได้แต่ไกล บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติ มีประชาชนจากที่ต่างๆ เข้าไปนมัสการและชมความงามของบริเวณวัดกันอยู่เสมอ

วัดศรีมงคลใต้

อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร
วัดศรีมงคลใต้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในตัวเมืองมุกดาหาร ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวง พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 2 เมตร

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ขณะที่เจ้ากินรีคุมบ่าวไพร่ถากถางอยู่ใกล้ต้นตาลเจ็ดยอด เมื่อครั้งสร้างเมืองใหม่นั้นได้พบพระพุทธรูปสององค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ วันหนึ่งเมื่อพระภิกษุประจำวัดเข้าไปสักการะ ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก เมื่อค้นดูรอบๆ บริเวณวัด พบว่าพระพุทธรูปเหล็กไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตามเดิม และจมลงในดินเหลือแต่ยอดพระเมาลีเป็นที่น่าอัศจรรย์ เจ้ากินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น และถวายนามว่า “พระหลุบเหล็ก” ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ในโบสถ์ เรียกนามว่า “พระเจ้าองค์หลวง” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมุกดาหารนับแต่นั้นมา

วัดศรีบุญเรือง (บ้านใต้)

อำเภอเมือง จ.มุกดาหาร
วัดศรีบุญเรือง (บ้านใต้) ตั้งอยู่ที่ถนนสำราญชายโขงในตัวเมืองมุกดาหาร ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธสิงห์สอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 1.20 เมตร ประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิงห์สองนั้น มีหลักฐานว่า ในสมัยที่เมืองมุกดาหารยังเป็นเมืองใหม่ เจ้ากินรีได้เดินทางไปนครเวียงจันทน์ เพื่ออัญเชิญพระพุทธสิงห์สองมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถ ของวัดศรีมงคลใต้ ต่อมาเจ้ากินรีได้สร้างวัดขึ้นใหม่ที่บ้านศรีบุญเรือง จึงได้อัญเชิญย้ายมาประดิษฐานบนแท่น ในพระอุโบสถวัดศรีบุญเรือง เพื่อสักการะบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในงานสงกรานต์ของอำเภอเมืองมุกดาหาร ชาวอำเภอเมืองมุกดาหาร ได้กระทำพิธีอัญเชิญพระพุทธสิงห์สอง จากพระอุโบสถวัดศรีบุญเรืองแห่รอบเมือง แล้วนำไปประดิษฐานบนแท่นที่จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปี

สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี วัดสองคอน

อำเภอหว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร
สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี วัดสองคอน ตั้งอยู่ที่ บ้านสองคอน ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539 มีหุ่นขี้ผึ้งของนักบุญราศีทั้งเจ็ด ที่อุทิศชีวิตในป่าศักดิ์สิทธิ์ เพื่อพิสูจน์ศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า ทุกๆปี ในวันที่ 22 ตุลาคม จะมีพิธีฉลิมฉลองรำรึกถึงการสถาปนาแต่งตั้ง"บุญราศีมรณสักขี" และในวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี จะมีพิธีรำลึกบุญราศีสองคอน

วัดสองคอนมีบริเวณกว้างขวาง และมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และสักการะทุกวันระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. คริสตชนสามารถร่วมพิธีบูชามิสซาได้ในวันอาทิตย์ เวลา 07.00 น.

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดมุกดาหาร 40 กม. จากมุกดาหารใช้ทางหลวงหมายเลข 212 (มุกดาหาร-นครพนม) ไปทางนครพนมถึงหลัก กม. ที่ 28 แยกขวาที่บ้านสองคอน อำเภอหว้านใหญ่ ตรงไปยังริมแม่น้ำโขง ประมาณ 12 กม. ตัวโบสถ์คริสต์อยู่ริมน้ำ และเป็น Unseen in Thailand II

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น