มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติอีสานตินล่าง
1. น้ำตกรากไทร ม่านน้ำธรรมชาติริมแก่งตะนะ
เป็นน้ำตกที่ไหลตามรากไทรที่ย้อยลงมาตามหน้าผาริมแม่น้ำมูล มองดูคล้ายม่านมู่ลี่ไหลลงสู่พื้นหินกระจายเป็นละออง งดงามน่าอัศจรรย์
น้ำตกรากไทรเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นเพียง 500 เมตรริมแม่น้ำมูลของอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ซึ่งนอกจากจะได้ชื่นชมม่านน้ำธรรมชาติแล้วยังสามารถชื่นชมพืชพรรณ ประเภทมอส ไลเคนและเฟิร์นแบบครบวงจร และร่องรอยอารยธรรมขอมยุคพุทธศตวรรษที่ 12 บริเวณถ้ำพระ ซึ่งตั้งอยู่บนปลายเส้นทาง นับเป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะสั้นที่มีจุดท่องเที่ยวครบถ้วน
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 85 กม. บนเส้นทางท่องเที่ยวสายหลักของจังหวัดที่สามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆอีกมากมาย
2.น้ำตกห้วยหลวง น้ำตกใหญ่และงามที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง
น้ำตกห้วยหลวงหรือน้ำตกบักเตว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่กลางป่าสมบูรณ์ไหลตกจากหน้าผาสูง 45 เมตร ลงสู่แอ่งน้ำสีเขียวมรกตที่มีหาดทรายขาวโอบล้อม ถือได้ว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุด และงดงามที่สุดของภาคอีสานตอนล่าง
น้ำตกห้วยหลวงตั้งอยู่ที่อุทยานห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 130 กม.
3. อาบเมฆที่ผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
ผามออีแดง เป็นหน้าผาสูง 500 เมตร ที่แบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และเป็นประตูสู่ปราสาทเขาพระวิหาร ณ หน้าผาแห่งนี้ นอกจากจะเป็นจุดชมทิวทัศน์แผ่นดินเขมรต่ำและเป็นจุดที่ปรากฏรอยภาพแกะสลักหินโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จนกลายเป็นแหล่ง Unseen Thailand แล้วในช่วงฤดูฝนจะปรากฏทะเลเมฆที่ไหลมาจากที่ราบแผ่นดินเขมรต่ำมาปะทะหน้าผาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ไปเยือนผามออีแดงในฤดูนี้จะได้มีโอกาสอาบเมฆอย่างแสนประทับใจ
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในเขต อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ห่างจากทั้งจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ในระยะทางที่ใกล้เคียงกันคือ ประมาณ 98 กม.
4.“กุ้งเดินขบวน” : ธรรมชาติมหัศจรรย์ที่สามเหลี่ยมมรกต
ในช่วงปลานเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายน ณ ผืนป่าสมบูรณ์ปลายล่างสุดของภาคอีสานในเขตอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ใกล้รอยต่อเขตแดน 3 ประเทศ คือ ไทย ลาวและกัมพูชาหรือที่รู้จักกันดีในนาม“สามเหลี่ยมมรกต” จะปรากฏเหตุการณ์ที่แสนมหัศจรรย์เมื่อบรรดากุ้งน้ำจืดนับล้านๆตัวต่างพากันพร้อมใจเดินพาเหรดผ่าน ลานหินเลียบแก่งน้ำมุ่งหน้าสู่ยอดเขาสูงแห่งสามเหลี่ยมมรกต
ปรากฏการณ์ “กุ้งเดินขบวน” เกิดขึ้นที่แก่งลำดวน บริเวณสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าอุบลราชธานี อ.น้ำยืน โดยจะเดินขบวนในช่วงกลางคืนหลังฝนตกหนักหรือสายน้ำในแก่งลำดวนมีความเชี่ยวกราก นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
แก่งลำดวน อยู่ห่างจากตัวอำเภอน้ำยืน 16 กม. และห่างจากตัวจังหวักประมาณ 160 กม. สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับน้ำตกห้วยหลวงได้สะดวก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น