แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ เดิมเรียกว่า เมืองขุขันธ์ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองมาแต่สมัยขอม ปรากฏหลายแห่งเล่ากันว่า เมืองขุขันธ์เดิม เรียกว่า ศรีนครลำดวน ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ตำบลลำดวนใหญ่ กิ่งอำเภอวังหิน ในปัจจุบัน ถูกยกขึ้นเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลวงแก้วสุวรรณ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระไกรภักดี เป็นเจ้าเมืององค์แรก
ล่วงถึงรัชสมัยรัชการที่ 5 ได้ย้ายเมืองขุขันธ์ มาอยู่ที่เมืองศรีสะเกษ (ที่บ้านเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองในปัจจุบัน) แต่ยังคงใช้ชื่อว่า เมืองขุขันธ์ จนถึง พ.ศ. 2481 จึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่นั้นมา
การเดินทาง
ทางรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี จึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24 ) ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 220 เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ รวมระยะทางประมาณ 571 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-9363660, 02-9360657
รถไฟ จากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถธรรมดา, รถเร็ว และรถด่วน สายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ระยะทาง 515 กิโลเมตร
นอกจากนั้น ยังมีรถโดยสารจากตัวอำเภอเมืองศรีสะเกษ ไปยังอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียงด้วย การเดินทางในตัวเมือง มีรถสามล้อรับจ้างอยู่ทั่วไป
ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ทีวัดสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ริมทางหลวงหมายเลข 226 ห่างจากจังหวัด 26 กม. ห่างจากตัวอำเภอ 2 กม. เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด มีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ บนฐานเดียวกันในแนวทางทิศเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางคือ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยหินทรายมีอิฐแซมบางส่วน ปรางค์อีก 2 องค์ เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง กรอบหน้าบัน และกรอบเสาประตู ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้ มีปรางค์ก่ออิฐ 1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้งสี่ทิศ ที่ปรางค์ประธานมีทับหลังจำหลัก ภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนที่วิหารก่ออิฐซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือ มีทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อยู่เหนือพระยาอนันตนาคราช ท่ามกลางเกษียรสมุทร และที่วิหารก่ออิฐ ทางด้านทิศใต้มีทับหลังรูปพระอิศวรกับพระอุมา ประทับนั่งเหนือโคนนทิ ปัจจุบัน ปราสาทแห่งนี้ อยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช, พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ และยังพบพระพุทธรูปนาคปรก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ดินเผา ฯลฯ จากหลักฐานลวดลายที่ปรากฎบนหน้าบัน ทับหลัง และโบราณวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะจารึกที่หลืบประตูปราสาทสระกำแพงใหญ่ สรุปได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบปาปวน เพื่อเป็ นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ และเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน |
ปราสาทวัดสระกำแพงน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านกลาง ตำบลขยุง อำเภอเมืองศรีสะเกษ ห่างจากตัวจังหวัด 8.7 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือ ติดถนนบนเส้นทางสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 226) ปราสาทหินสระกำแพงน้อย ประกอบด้วยปรางค์และวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าปรางค์มีสระน้ำใหญ่ ทั้งปรางค์ วิหาร และสระน้ำ ล้วนล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง เคยมีทับหลังประตู สลักเป็นพระวรุณ เทพเจ้าแห่งฝน ประทับบนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เป็นศิลปะแบบปาปวน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่า ปราสาทหินแห่งนี้ เดิมเป็นศาสนสถานมาก่อน แล้วต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาจมีการบูรณะหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ สังเกตได้จากมีสถาปัตยกรรมแบบบายนอยู่ด้วย สิ่งก่อสร้างดังกล่าว เรียกกันในสมัยนั้นว่า "อโรคยาศาล" หมายถึง สถานพยาบาลหรือสุขศาลาประจำชุมชนนั้นเอง |
ปราสาทห้วยทับทัน (ปราสาทบ้านปราสาท) |
ปราสาทห้วยทับทัน (ปราสาทบ้านปราสาท) ตั้งอยู่ที่วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน การเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ ตามทางหลวงสาย 226 ประมาณ 39 กิโลเมตร ถึงอำเภอห้วยทับทันแล้วเลี้ยวขวาไปตามทางลูกรังอีก 8 กม. ปราสาทห้วยทับทัน เป็นโบราณสถานแบบขอมแห่งหนี่งที่ถูกดัดแปลงในสมัยหลัง ต่อมาเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะส่วนหลังคา ซึ่งคล้ายคลึงกันมาก แต่มีขนาดสูงกว่า ประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตู สันนิษฐานว่า เดิมมี 3 หรือ 4 ทิศ ปัจจุบันคงเหลือเพียงด้านทิศใต้เท่านั้น ก่อด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์กลาง ขนาดใหญ่กว่าปรางค์อีก 2 องค์ ที่ขนาบข้างเล็กน้อย แต่ส่วนหลังคาเตี้ยกว่า ยังเป็นรูปเหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง มีประตูเดียวด้านหน้า ทางทิศตะวันออกยังคงมีกรอบประตูหินทราย และทับหลังติดอยู่ เป็นภาพบุคคลยืนอยู่เหนือหน้ากาล ส่วนท่อนพวงมาลัย มีลายมาแบ่งที่เี้สยวภาพบุคคลยืนในคุ้มเรือนแก้ว ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นผู้ใด ด้วยลายสลักยังไม่แล้วเสร็จ ปรางค์สององค์ ที่ขนาบข้างขนาดเดียวกัน ได้รับการดัดแปลงรูปแบบไปมาก โดยเฉพาะส่วนหลังคาและประตู ซึ่งก่อทึบหมดทุกด้าน ยังคงปรากฏกรอบประตูหินทรายและชิ้นส่วนทับหลัง สลักภาพการกวนเกษียรสมุทร ตกอยู่หน้าประตูปรางค์องค์ที่อยู่ด้านทิศใต้ จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังที่ปรากฎ อาจสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัยศิลปะขอมแบบคลัง-ปาปวนของเขมร และในสมัยหลังต่อมา ได้รับการดัดแปลงปราสาท |
ปราสาทปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ อำเภอปรางค์กู่ แยกจากอำเภอราว 10 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กม. ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยอิฐเรียงแผ่นโตๆ เหมือนปราสาทศรีขรภูมิที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยขอมที่เก่าแก่มาก มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว หน้าบริเวณปรางค์กู่ มีสระน้ำกว้างยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นทำเลพักหากินของนกพันธุ์ต่างๆ ฝูงใหญ่ |
|
ผามออีแดง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ บริเวณปลายสุดของทางหลวงหมายเลข 221 (สายศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 34 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 98 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดียวที่ติดต่อกับทางขึ้นเขาพระวิหาร ผามออีแดง มีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติ เป็นหน้าผาสูง 500 เมตร มีผืนป่าเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ที่แบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และเป็นประตูสู่ปราสาทเขาพระวิหาร ริมหน้าผาสูงติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่เบื้องล่าง เป็นจุดชมทัศนียภาพเขาพระวิหาร ทิวเขาพนมดงรัก และแผ่นดินเขมรต่ำ สามารถมองเห็น ปราสาทเขาพระวิหาร ในระยะใกล้เคียง 1,000 เมตร ในบริเวณผามออีแดง มีวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไป จะมีภาพสลักหินนูนต่ำ ศิลปะเขมรพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งสันนิษฐานว่า มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จนกลายเป็นแหล่ง Unseen Thailand แล้วในช่วงฤดูฝนจะปรากฏทะเลเมฆที่ไหลมาจากที่ราบแผ่นดินเขมรต่ำมาปะทะหน้าผาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ไปเยือนผามออีแดงในฤดูนี้จะได้มีโอกาสอาบเมฆอย่างแสนประทับใจ |
|
ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตประเทศกัมพูชา บริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย โดยตัวปราสาทหันหน้ามายังด้านที่ติดกับประเทศไทย ดังนั้น การเข้าชมปราสาทในทางบก จึงต้องใช้เส้นทางที่ผ่านผามออีแดงของประเทศไทยเท่านั้น ปราสาทขเาพระวิหาร เป็นเทวสถานขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 900 เมตร ประกอบด้วยปราสาท 4 ชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่บนแนวเขาที่เป็นเนินสูง ลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับทั้ง 4 ชั้น ทางเดินระหว่างชั้นของปราสาท ได้อาศัยแผ่นศิลาบนผิวพื้นภูเขานั้นเป็นแนวถนน และขั้นบันได โดยตกแต่งให้มีระดับต่อเนื่องกันจนถึงยอดสูงสุด อันเป็นที่ตั้งของปราสาทชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นปราสาทองค์ประธาน อยู่ชิดกับหน้าผา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร จากหลักฐานที่ปรากฏในจารึก แสดงว่าเขาพระวิหารแห่งนี้ เป็นศิวะสถานสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 และต่มาในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ก็ได้มีการสร้างเสริมเพิ่มเติมโดยลำดับ จนสำเร็จในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้บันทึกคำประกาศของทางราชการ ไว้บนแผ่นศิลาจารึกด้วย ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้ เดิมเคยอยู่ในความดูแลของไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณวัตถุสถาน ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2483 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พุทธสักราช 2505 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลโลก และยังคงเป็นของกัมพูชาอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน |
|
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น